การเลือกใช้รถรับจ้างในสมัยก่อน

ปัจจุบันการสัญจรไปมาในกรุงเทพฯ เรามีพาหนะให้เลือกใช้หลายอย่าง ตั้งแต่รถไฟฟ้าที่วิ่งลอยฟ้าหรือมุดลงใต้ดิน จนถึงรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ซอกแซกไปทุกซอยทั่วกรุง แม้แต่รถ 6 ล้อรับจ้าง หรือ จะรถรับจ้างประเภทต่าง ๆ  แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มียานพาหนะชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า “รถเจ๊ก” ครองความเป็นเจ้าถนนแต่เพียงผู้เดียว ช่วยให้การเดินทางไปมาในกรุงเทพฯสะดวกสบายก่อนที่จะมีรถรางในภายหลัง

แต่ทว่าในแง่มุมของชีวิต ชะตากรรมของกุลีลากรถนับว่าน่าสังเวชอย่างยิ่ง ทั้งหมดของคนเหล่านี้ล้วนเป็นชาวจีนที่หนีความอดอยากยากแค้นในเมืองจีนเข้ามา พูดไทยยังไม่ได้ ต้องอาศัยแรงกายหาเลี้ยงชีพอย่างแสนเข็ญ ทั้งยังมีรายได้ต่ำกว่ากุลีทุกประเภท เพราะถูกขูดรีดจากเจ้าของรถที่เป็นคนจีนด้วยกัน คนหนุ่มที่เข้ามาลิ้มลองอาชีพนี้แล้วมักจะหนีไปหาอาชีพอื่น ส่วนคนที่ไม่มีทางไปก็มักเป็นคนมีอายุ ไปไหนไม่รอด ส่วนใหญ่จะตายคารถ

ตามประวัติรถรับจ้างประเภทนี้ คนที่คิดขึ้นคือ นายอิสุมิ โยสุกิ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งดัดแปลงจากเกี้ยวที่มีคานหามมาติดล้อ และได้รับความนิยมแพร่หลายในญี่ปุ่น จนแพร่ไปถึงเมืองจีน ต่อมา จีนพุก พ่อค้าคนจีนในเมืองไทย (ต่อมาเข้ารับราชการในกรมท่าซ้าย ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาโชฎึกราชเศรษฐี และมีชื่อไทยว่า พุก โชติกพุกกะณะ) ซึ่งมีสำเภาค้าขายกับเมืองจีน ไปเห็นรถประเภทนี้วิ่งกันเกลื่อน จึงซื้อใส่สำเภาเข้ามาหลายคัน นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

รถรับจ้างมาถึงเมืองไทยหลังจากที่นายอิสุมิคิดขึ้นประมาณ ๔๐ ปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็โปรดให้จีนพุกสั่งรถรับจ้างจากเมืองจีนเข้ามาอีกหลายสิบคัน พระราชทานแก่เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ อีกทั้งเจ้าสัวพ่อค้าจีนยังฝากให้จีนพุกซื้อเข้ามาอีก รถรับจ้างที่เข้ามารุ่นแรกๆๆราวร้อยกว่าคันนี้ นับเป็นสิ่งโก้หรูของบางกอก เป็นที่นิยมในกลุ่ม “ไฮโซ” คนสามัญทั่วไปไม่มีวาสนาจะได้นั่ง มีแต่ขุนนางและเจ้าสัวเท่านั้นที่ใช้เป็นรถส่วนตัวแทนเกี้ยวคานหามหรือรถม้า เวลาแดดร่มลมตกเจ้าจอมหม่อมห้ามมักจะนั่งรถรับจ้างออกมากินลมชมวิวกัน